Black Ribbon

มะเร็ง โรคมะเร็งคืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็ง โรคมะเร็งคืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาโรคมะเร็ง

ในปัจจุบันแม้ว่าหลายๆ คนจะเริ่มหันมาใส่ใจในสุขภาพร่างกายของตัวเองกันมากขึ้น แต่บรรดาเชื้อโรคต่างๆ ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่เรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตที่ผู้คนเป็นกันเยอะมากๆ ยิ่งกว่าโรคติดต่อเสียอีก เรียกได้ว่าเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่ฆ่าผู้คนและคร่าชีวิตมนุษย์จากทั่วโลกทุกวันกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว

มะเร็งคืออะไร

มะเร็ง (Cancer) คือ ภาวะที่เซลล์ในร่างกายของเรามีการแบ่งตัวและเจริญขึ้นโดยรวดเร็วอย่างผิดปกติในสารพันธุกรรม (DNA) โดยเริ่มจากเป็นเซลล์เล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นตามเวลา นานวันเข้าเซลล์นั้นก็จะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงทำให้เซลล์ในก้อนเนื้อนั้นตาย จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกร้ายที่ไปเบียดบังทั้งส่วนที่เกิดและส่วนอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง จากนั้นก็จะค่อยๆ กระจายไปในส่วนอื่นๆ ของร่างกายโดยผ่านระบบกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองของเราเป็นตัวนำเชื้อไป

มะเร็ง

อวัยวะต่างๆที่มักพบมะเร็ง

มะเร็ง

มะเร็งเต้านม มะเร็งที่พบได้มากที่สุดชนิดหนึ่งในผู้หญิง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้คนต่างป่วยด้วยโรคมะเร็งกันมากขึ้นนั้นเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน คือ
1. ปัจจัยภายนอก
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มักเกิดในคนที่ไม่นิยมกินร้อนช้อนกลาง โดยอาจติดจากทางน้ำลายในการรับประทานอาหารร่วมกัน
- การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ในกรณีที่ชอบรับประทานอาหารแบบดิบๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
- ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชีวิตจิตใจ และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ได้รับรังสีอัลตราไวโลเลตจากแสงแดดเป็นเวลานาน
- ผู้ที่เคยผ่านการฉายรังสีเอกซเรย์
- สารอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่เรารับประทานกันทุกวัน โดยเฉพาะในพวกพริกแห้ง ถั่ว ฯลฯ
- สารก่อมะเร็งในอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง ทอด โดยเฉพาะเนื้อที่ย่างหรือปิ้งจนไหม้เกรียม หรือเนื้อที่ทอดโดยใช้น้ำมันซ้ำๆ ทุกวัน
- สารไฮโดรคาร์บอน เป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในการถนอมอาหารอย่างไนโตรซามิน ซึ่งเป็นสีย้อมผ้าที่นำมาใช้เป็นสีผสมอาหาร

2. ปัจจัยภายใน
- เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น เด็กพิการแต่กำเนิด ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น พวกวิตามินเอ หรือซี ฯลฯ

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามะเร็งส่วนใหญ่นั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน นั่นหมายความว่าเราสามารถป้องกันการก่อเกิดโรคมะเร็งได้มากพอสมควร ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและระเบียบวินัยการเลือกปฏิบัติของเราเป็นหลัก รวมทั้งความรู้ในเรื่องของสารก่อมะเร็งด้วย

มะเร็ง

เซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

อาการของโรคมะเร็ง
- สำหรับในช่วงแรกของการเกิดโรคมะเร็งขึ้นในร่างกายนั้นเรียกได้ว่าแทบไม่มีอาการอะไรส่อเค้า หรือบอกให้ผู้ป่วยทราบได้เลยว่ากำลังเผชิญกับโรคมะเร็งนี้อยู่ ทำให้กว่าที่จะรู้ตัวก็สายเกินแก้
- เมื่อเป็นประสักระยะหนึ่งหรือหลายปี ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว ผอมซูบ น้ำหนักลด ร่างกายเริ่มดูทรุดโทรมลง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าเหมือนเดิม
- และเมื่ออยู่ในระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลามมากขึ้นก็จะเริ่มปรากฏอาการอย่างชัดเจนในระยะนี้ จะรู้สึกเจ็บปวดและทรมานเป็นอย่างมากตามจุดต่างๆ ที่เกิดมะเร็งขึ้น ทั้งนี้จะมีอาการมากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับโรคมะเร็งที่เป็นว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ประเภทไหน และการกระจายของเซลล์มะเร็งภายในนั้นไปเบียดบังอวัยวะส่วนใดบ้าง ณ ขณะนั้น

มะเร็ง

มะเร็งตับ เป็นมะเร็งพบได้มากทั้งผู้ชายและผู้หญิง

สัญญาณเตือนที่ควรเริ่มสันนิษฐานว่าเป็นมะเร็ง
- มีเลือดออกผิดปกติทางทวารต่างๆ โดยเฉพาะในทวารหนัก หรือปากมดลูก
- เริ่มรู้สึกว่ากลืนอาหารลำบากมากขึ้น หรือรู้สึกเสียดแน่นท้องบ่อยๆ และนาน
- เมื่อปัสสาวะออกมาเป็นเลือด หรืออุจจาระออกมาเป็นก้อนสีดำ
- เสียงเริ่มแหบแห้ง และไอบ่อยมากขึ้นจนเรื้อรัง
- เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นในร่างกายแล้วไม่หายสักที
- เมื่อคลำเจอก้อนหรือตุ่มที่ขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- เมื่อไฝ หูด หรือปานในร่างกายตามส่วนต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น ใหญ่ขึ้น หรือสีเปลี่ยน เป็นต้น

มะเร็ง

มะเร็งปอด พบมากในคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

วิธีรักษาโรคมะเร็ง
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งนี้แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการของโรค มีการตรวจอย่างละเอียดว่าเซลล์มะเร็งร้ายกระจายไปอยู่ในบริเวณใดของร่างกายบ้าง เมื่อทราบแล้วก็จะรักษาไปตามอาการ โดยมะเร็งแต่ละชนิดการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็มีวิธีที่แพทย์นิยมรักษากันอยู่ คือ

1. การผ่าตัด
หากผ่าตัดออกได้แพทย์จะทำการผ่าตัดก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อกำจัดก้อนเนื้อร้ายที่อยู่ในร่างกายเราออกไป แต่วิธีนี้ไม่ได้สามารถทำการรักษาได้กับมะเร็งทุกประเภท และหากทำการผ่าตัดแล้วก็ยังไม่แน่นอนว่าจะหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะเซลล์มะเร็งอาจยังหลงเหลือหรือหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย โดยอาจเป็นเซลล์มะเร็งที่กำลังเริ่มจะเกิดแต่ยังไม่โตให้เห็น ทำให้แพทย์ไม่สามารถรู้หรือสังเกตเห็น เมื่อปล่อยไปสักระยะก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือเริ่มก่อตัวขยายใหญ่ขึ้น ก็ต้องมาผ่าตัดกันใหม่อีกรอบ แต่โดยมากกับวิธีการผ่าตัดนี้แพทย์มักแนะนำให้ทำคีโมหรือเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะช่วยให้หายขาดจากโรคมะเร็งนี้ได้

2. การใช้รังสีรักษา
เป็นการฉายแสงไปยังเซลล์มะเร็งในร่างกาย เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น สำหรับการฉายแสงนี้เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ โดยอาศัยปัจจัยจากชนิดของมะเร็งที่เป็น รวมทั้งระยะเวลาที่เกิดมะเร็ง ตลอดจนสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่าแข็งแรงพอหรือไม่ ซึ่งหากผู้ป่วยพร้อมก็จะทำการฉายแสงประมาณ 2 – 10 นาที โดยต้องทำการฉายแสงสัปดาห์ละ 5 วัน รวมประมาณ 5 – 8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่การรักษาด้วยรังสีรักษานี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น ได้แก่ ผิวหนังจะแห้งๆ คันๆ แดง หรือคล้ำ รวมทั้งมีอาการเจ็บคอ ลิ้นไม่รู้รส ปากแห้ง และอ่อนเพลียมาก

3. เคมีบำบัด (คีโม) 
สำหรับวิธีนี้ถือเป็นการรักษาอย่างถูกจุด เรียกว่าถึงรากถึงโคน แก้ที่สาเหตุโดยตรงของปัญหา เพราะเป็นการให้ยาเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งทั้งหมดที่อยู่ภายในร่างกาย รวมทั้งที่กระจายเข้าไปตามต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดด้วย โดยแพทย์จะนัดมาทำการตรวจร่างกายวัดความดันและทำการเจาะเลือด ซึ่งหากผลการตรวจร่างกายผ่าน แพทย์ก็จะให้ไปทำการให้คีโมซึ่งก็เหมือนกับการให้น้ำเกลือทั่วไป เพียงแต่ต้องนอนรอหลายชั่วโมงจนกว่าตัวยาจะหมด และในระหว่างการให้คีโมนี้ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งอาจรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียน และผลข้างเคียงที่ตามมาหลังจากการให้คีโมประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ผมจะเริ่มร่วง รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลในปาก และปริมาณเม็ดเลือดลดลงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ตลอดจนอาจรู้สึกหายใจลำบาก มีผื่นขึ้น ท้องผูกถ่ายไม่ออก หรือมีไข้ เป็นต้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีราคาค่อนข้างแพงเลยทีเดียว แถมยังต้องทำหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องทำทั้งหมดกี่ครั้งจึงจะหายเป็นปกติ

มะเร็ง

ผู้ป่วยบางรายที่ทำเคมีบำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงได้

รายชื่อโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย
1. มะเร็งตับ
2. มะเร็งปอด
3. มะเร็งเม็ดเลือดขาว
4. มะเร็งสมอง
5. มะเร็งปากมดูก
6. มะเร็งลำไส้
7. มะเร็งกล่องเสียง
8. มะเร็งผิวหนัง
9. มะเร็งรังไข่
10. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
11. มะเร็งต่อมลูกหมาก
12. มะเร็งเต้านม
13. มะเร็งกระเพาะอาหาร
14. มะเร็งกระดูก
15. มะเร็งหลอดอาหาร
16. มะเร็งลิ้น
17. มะเร็งช่องปากและลำคอ
18. มะเร็งท่อน้ำดีและถุงน้ำดี
19. มะเร็งหลอดลม
20. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
21. มะเร็งตับอ่อน
22. มะเร็งไต
23. มะเร็งไทรอยด์
24. มะเร็งโพรงมดลูก

มะเร็ง

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมากเช่นกัน

การป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
- เริ่มควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงจากพื้นที่ที่มีอากาศหรือมลภาวะเป็นพิษ อย่างท่อไอเสียจากรถยนต์ หรือควันจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น
- รับประทานผักผลไม้ที่ให้วิตามินซีสูง เช่น ส้ม, มะนาว, สตรอว์เบอร์รี, ฝรั่ง หรือผักใบเขียวต่างๆ ฯลฯ
- รับประทานผักผลไม้ที่ให้วิตามินเอสูง เช่น แครอท, มะละกอ, กะหล่ำ หรือเซเลอรี ฯลฯ
- รับประทานอาหารที่ให้กากใยหรือไฟเบอร์มาก เช่น ข้าวโพด, เมล็ดธัญพืชต่างๆ ฯลฯ
- รับประทานผักตระกูลกะหล่ำมากๆ เช่น ดอกกะหล่ำ, กะหล่ำปลี, บร็อกโคลี, หรือผักคะน้า ฯลฯ
- ควรจำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมัน
- ระมัดระวังไม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อราขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน หรือของหมักดอง รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- ไม่ดื่มสุราแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ อย่าง ก้อย ปลาจ่อม เป็นต้น
- พยายามหลีกเลี่ยงการตากแดด โดยเฉพาะในเวลาหลัง 09.00 น. เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตจำนวนมากที่ทำลายเซลล์ผิวหนังของเรา และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

มะเร็ง

อาหารปิ้งย่าง หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งนั้นเป็นโรคอันตรายที่ไม่มีใครอยากประสบพบเจอ ซึ่งเราสามารถป้องกันให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมระเบียบวินัยของทุกคนเป็นหลักว่าจะสามารถยับยั้งชั่งใจในเรื่องอาหารการกินได้มากน้อยเพียงใด เพราะจะเห็นได้ว่าสาเหตุของโรคมะเร็งส่วนใหญ่นั้นเกิดมาจากการรับประทานอาหารเป็นส่วนมาก เราจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแต่คุณประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งความสะอาดโดยไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้ายอย่างมะเร็ง

credit : เกร็ดความรู้.net