ไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก ภัยเงียบคร่าชีวิตคนนับร้อยภายในไม่กี่วัน
ไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก ภัยเงียบคร่าชีวิตคนนับร้อยภายในไม่กี่วัน
ไข้เลือดออก บางคนเดินเข้าโรงพยาบาลไปนอนรักษาง่ายๆ ไม่กี่วันก็กลับบ้าน แต่บางคนสามารถมีอาการหนักจนถึงขั้นเข้าห้องไอซียู ให้เลือด ให้น้ำเกลือ หากร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานไหว หรือเข้าสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ก็อาจเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วันได้เช่นกัน (อ่านเรื่อง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร ที่นี่)
ปัจจุบันไข้เลือดออกกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย เพราะแต่ละปีมีผู้ป่วยจากทุกภาคเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และโรคนี้มักระบาดมากในฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกชุม
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไข้เลือดออกเด็งกีซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง มียุงลายเป็นพาหะนำโรค กล่าวคือ ยุงลายจะกัดคนที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อนแล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียงก็จะเป็นการแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ต่อไป
ไข้เลือดออก อันตรายถึงชีวิต
ผู้ป่วยบางรายแค่มีอาการไข้ขึ้นสูง พอไข้ลดก็กลับบ้านได้เลย แต่ผู้ป่วยบางรายอาการหนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่เชื้อที่ได้รับ และภูมิต้านทานโรคของตัวผู้ป่วยเอง จึงทำให้ความรุนแรงของอาการไข้เลือดออกในแต่ละคนไม่เท่ากัน
ช่วงที่อันตรายที่สุด ของโรคไข้เลือดออก
ในช่วงที่รักษาตัวจนไข้ลด ภายใน 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจเกิดอาการช็อก หรือเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งสาเหตุจากการเสียชีวิตในโรคนี้ก็มาจากอาการช็อก ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง (แม้เราจะไม่เห็นผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำจากภายนอกแต่ย่างใด) น้ำในหลอดเลือดจะไหลไปอยู่ในเนื้อเยื่อข้างเคียง ความดันเลือดลดลง จนเกิดอาการช็อกตามมา แต่หากไม่แสดงอาการใดๆ ก็จะถือว่าปลอดภัยแล้ว
ลักษณะของยุงลาย
ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก คือ ยุงลายตัวเมีย มีลักษณะเป็นลายสีขาวสลับดำที่ท้อง ลำตัวและขา พบมากตามบ้านอยู่อาศัยและในสวน ออกหากินในเวลากลางวันและขยายพันธุ์โดยวางไข่ในน้ำนิ่ง พบบ่อยตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ จานรองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์เก่า และเศษวัสดุอื่นๆ เป็นต้น
อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลันและไข้จะสูงลอยตลอดเวลาอยู่ประมาณ 2-7 วัน กินยาลดไข้ ไข้มักจะไม่ลด หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ เบื่ออาหาร อาเจียน ซึม บางรายอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวาหรือปวดท้องทั่วไป และอาจมีท้องผูกหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ส่วนมากมักไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลหรือไอมากแต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงและไอเล็กน้อยประมาณวันที่ 3 อาจมีผื่นแดง ไม่คันขึ้นตามแขนขาและลำตัวอยู่ประมาณ 2-3 วัน บางรายอาจมีจ้ำเขียวหรือจุดเลือดออกเกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ขึ้นตามหน้า แขนขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก และอาจคลำพบตับโตกดเจ็บเกิดขึ้นได้ ในระยะนี้ถ้ามีอาการรุนแรงจะปรากฏอาการระยะที่ 2 ต่อไป
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก อาการมักจะเกิดช่วงวันที่ 3 - 7 ของโรคซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤต โดยอาการไข้จะลดลงอย่างรวดเร็วแต่ผู้ป่วยมักมีอาการทรุดหนักและมีภาวะช็อกเกิดขึ้น คือ กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ความดันเลือดต่ำ ซึม นอกจากนี้อาจมีเลือดออกตามผิวหนังหรือมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น เลือดกำเดาไหล อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีกาแฟ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 24 – 48 ชม. ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว ในรายที่ได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที ภาวะช็อกไม่รุนแรงอาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น และอาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น คือ เริ่มรับประทานอาหารได้ ลุกนั่งได้ และร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัวสู่สภาพปกติ ระยะนี้อาจกินเวลาประมาณ 2-3 วัน รวมระยะเวลาของโรคไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน
การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด ทำได้โดย
1. นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด
2. จุดยากันยุงหรือใช้ยาทาหรือยาฉีดกันยุง และควรใช้อย่างระมัดระวัง
3. ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่อับลมหรือเป็นมุมมืด มีแสงสว่างน้อย
4. หมั่นอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเพราะเหงื่อจะดึงดูดให้ยุงกัดมากขึ้น
วิธีควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำได้ดังนี้
1. กำจัด - ทำลาย - ฝัง - เผา เศษภาชนะที่ไม่ใช้ภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านไม่ให้มีน้ำขัง
2. ควรปิดฝาโอ่งน้ำดื่ม น้ำใช้ ให้สนิท
3. ใส่ผงซักฟอกหรือน้ำส้มสายชูหรือเกลือแกงหรือขี้เถ้าหรือทรายอะเบต หรือเทน้ำเดือดลงในจานรองขาตู้ทุกสัปดาห์
4. ใส่ปลาหางนกยูงลงในอ่างบัว ถังเก็บน้ำในห้องน้ำเพื่อกินลูกน้ำ
5. ขัดล้างภาชนะเก็บกักน้ำ เพื่อขจัดยุงลาย
6. เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ทุก 7 วัน เพื่อทำลายไข่ยุงลาย
7. ทำความสะอาดรางระบายน้ำฝนให้สะอาด
8. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ชุมชน ให้สะอาด
การดูแลตนเอง
1. ในระยะ 2 - 3 วันแรกของการเป็นไข้ถ้ายังรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน ไม่ปวดท้อง ไม่มีจ้ำเลือดขึ้นและยังไม่มีอาการเลือดออกหรือภาวะช็อกเกิดขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้
- ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ
- หากมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆและให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ผู้ใหญ่กิน 1-2 เม็ด เด็กโต ½ - 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำเชื่อม 1- 2 ช้อนชา ถ้ายังมีไข้รับประทานซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ห้ามให้ยาแอสไพริน โดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น
- ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กและเคยชัก ควรให้รับประทานยากันชักไว้ก่อน
- รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และดื่มน้ำมากๆ
- เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
2. ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมากหรือมีเลือดออกหรือมีภาวะช็อกเกิดขึ้นควรรีบส่งโรงพยาบาล
อ้างอิง
กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข.(2544).แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี. กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ.
สีวิกา แสงธาราทิพย์ ศิริชัย พรรณธนะ. (2543). โรคไข้เลือดออก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พิมพ์ที่บริษัทเรดิเอชั่น จำกัด : สำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออกกรมควบคุมโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุข
สุจิตรา นิมมานนิตย์. (2542). โรคไข้เลือดออก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย
ออกแบบโดย : งานการศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-2256-7
งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง นางรุ่งฤดี จิณณวาโส และ นางภัทราพร พูลสวัสดิ์
จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520
ขอบคุณข้อมูล จาก ramaclinic
credit: SNOOK